วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture)

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture)

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture) หมายถึง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม เพื่อสนองความต้องการนั้น ๆ รูปแบบของสิ่งก่อสร้างอาจจะพัฒนาไปจากรูปแบบเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่หามาได้ตามท้องถิ่นนั้น ๆ
การก่อสร้างเป็นการช่วยเหลือกันในชุมชน จากบุคคลทุกเพศทุกวัยทั้ง เด็ก ผู้หญิง คนหนุ่ม-สาว คนเฒ่า-คนแก่ อาจเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการก่อสร้างหรือไม่มีก็ได้ การทำงานร่วมกันในชุมชนเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติตามพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชน



คุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

แต่ละพื้นที่บนโลกก็จะมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสภาพของพื้นที่ สังคม และวัฒนธรรมของประชาชน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในไทยก็เช่นกัน ทั้งเรื่องราวต่างๆของการใช้ชีวิต บริบทรอบข้าง รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมนั้นแสดงออกมาในตัวสถาปัตยกรรม โดยแฝงอยู่ในรูปทรง และแผนผังของอาคาร การศึกษาเรือนพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาคนั้นย่อมทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่พักอาศัยอยู่ภายในอาคาร เนื่องด้วยบ้านเรือนพักอาศัยนั้นเป็นศูนย์รวมของชีวิตในทุกสังคม รูปทรงของเรือนพักอาศัยของชาวบ้านนั้นส่วนใหญ่มักมีรูปร่าง ขนาด วัสดุ แะระเบียบวิธีการก่อสร้างเหมือนกันในแต่ละท้องถิ่น เพราะไม่ได้เป็นงานที่ออกแบบมีลักษณะเฉพาะตัวของสถาปนิก แต่เป็นงานออกแบบที่เป็นลักษณะรวมของสังคม

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในไทย

           รองศาสตราจารย์ วิโรฒ ศรีสุโร เขียนไว้ในหนังสือความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทย ว่า..
คำว่า  “สถาปัตย์พื้นถิ่น” นั้นย่อมหมายความถึง สถาปัตยกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากภูมิปัญญาของชุมชนที่มิได้อยู่ในเมืองหลวง ส่วนใหญ่จะอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ อันเป็นชนบทห่างไกลจากความเจริญทางวัตถุธรรม ดังเช่นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคอีสานอันกว้างใหญ่ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคใต้ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคเหนือ เป็นต้น อิทธิพล ต่างๆ ที่หล่อหลอมให้ช่างหรือสถาปนิกพื้นบ้าน แต่ละภูมิภาคเหล่านั้นได้สร้างสรรค์ผลงานออกมา ย่อมมีข้อแผกแตกต่างกันออกไป ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งพอจำแนกถึงอิทธิพลเหล่านั้นออกได้ดังนี้คือ                อิทธิพลทางสภาพภูมิประเทศ                อิทธิพลทางเผ่าชน                อิทธิพลทางความเชื่อและศาสนา                อิทธิพลทางสภาพเศรษฐกิจ                อิทธิพลทางวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้าง                อย่างไรก็ตาม เมื่อได้วิเคราะห์ลงไปสู่ปฐมเหตุของผลงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแต่ละภูมิภาคเหล่านั้นแล้ว จะเห็นความสำคัญที่เป็นจุดเด่นร่วมกันประการหนึ่งก็คือ การสร้างที่มุ่งเน้นให้มีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความงาม ซึ่งเป็นอุดมคติโดยทั่วไปของงานศิลปะพื้นบ้านทุกแขนง อาทิ งานปั้น, ทอ, หล่อ, ถัก, จักสานต่างๆ เป็นต้น ในทางสถาปัตยกรรมก็เฉกเช่นเดียวกัน การมุ่งเน้นเอาประโยชน์ใช้สอย (function) มาเป็นหลักสำคัญก่อนความงามนั้น จึงก่อให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน  ถึงแม้ว่าภูมิประเทศจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม



            ในมุมมองของคนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมของภาคต่างๆ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคเหนือ พื้นถิ่นภาคอีสาน พื้นถิ่นภาคใต้ เป็นต้น โดยท่านเห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยคือสถาปัตยกรรมในเมืองหลวง คือ สถาปัตยกรรมสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ นอกเหนือจากนี้คืองานพื้นถิ่นภาคต่างๆ ในขณะที่อีกกลุ่มมองว่า สถาปัตยกรรมภายในเมือง ทั้งวัดวาอาราม บ้านเรือนที่สร้างถาวรด้วยไม้และปูน เป็นสถาปัตยกรรมไทย แต่จำแนกออกเป็นไทยภาคต่างๆ และเห็นว่าเฉพาะเรือนพักอาศัยแบบเครื่องผูก คือเรือนที่สร้างกึ่งถาวรด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
แต่ส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักไปที่สถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่ช่างหลวงในเมืองหลวง และเน้นที่เรือนพักอาศัยและเรือนประกอบของชาวบ้านในชนบท
กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมของสามัญชน หรือชาวบ้าน และหมายรวมถึงสถาปัตยกรรมทุกประเภท ทั้งอาคารพักอาศัย ทั้งชั่วคราวและถาวร อาคารสำหรับอาชีพ เช่น ยุ้งข้าว โรงเก็บของ โรงสี โรงปั้นหม้อ ฯลฯ ทั้งอาคารสาธารณะ วัดวาอารามในชุมชน ศาลากลางบ้าน ศาลาท่าน้ำ ศาลาริมทาง ฯลฯ
ส่วนการจะรวมสถาปัตยกรรมของชนชั้นกลาง หรือผู้ที่พอมีฐานะ แต่ยังเป็นสามัญชน ไม่ได้เป็นเจ้านายหรือผู้มีบรรดาศักดิ์เข้าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่มีทั้งที่รวมและไม่รวม ตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมกลุ่มนี้ เช่น เรือนกาแลของภาคเหนือ เรือนไม้จริงที่มีการประดับตกแต่งอย่างประณีต และวัดต่างๆในตัวเมืองเก่าในต่างจังหวัด เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือ สงขลา ที่แม้จะสร้างโดยกษัตริย์หรือเจ้าเมือง แต่ก็เป็นหัวเมืองห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง
โดยในที่นี้จะแบ่งสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นนั้นจจะแบ่งออกเป็น 4 ภาค ซึ่งได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยยกตัวอย่างของเรือนพื้นถิ่นดังนี้

เรือนไทยภาคกลาง

เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยประเภท ที่นิยมที่สุด มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน รูปทรงล้มสอบ หลังคา ทรงสูงชายคายื่นยาว เพื่อกันฝนสาด แดดส่อง นิยมวางเรือนไปตามสภาพแวดล้อมทิศทางลมตามความเหมาะสม ถือเป็นแบบฉบับของเรือนไทยเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี ในรูปแบบ เรือนฝาปะกนถือเป็น เรือนไทยแท้ เรือนไทยฝาปะกน คือเรือนที่ฝาทำจากไม้สัก มีไม้ลูกตั้งและลูกนอน และมีแผ่นไม้บางเข้าลิ้นประกบกัน สนิท หน้าจั่วก็ทำด้วยวิธีเดียวกัน เราจะพบเห็นเรือนไทยภาคกลาง รูปแบบต่าง ๆ อาทิ เรือนเดี่ยว เรือนหมู่ เรือนหมู่คหบดี และ เรือนแพ

เรือน ไทยภาคกลาง ยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินประมาณพ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลด หลั่นกัน พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน 40 เซนติเมตรพื้นชานลดจากระเบียงอีก 40 เซนติเมตรและปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับ พื้นทำให้ได้ประโยชน์ดังนี้ คือ ช่วยให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน สามารถมองลงมายังใต้ถุนชั้น ล่างได้ และใช้ระดับลด 40 เซนติเมตรไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า 
หลังคาทรงจั่วสูงชายคา ยื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็นแบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครงและใช้จาก แฝกหรือกระเบื้องดินเผาเป็นวัสดุมุงหลังคา วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคา ทรงสูงนี้ มีผลช่วยบรรเทาความร้อนที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัยหลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไปตรงส่วนของหน้า จั่วทั้ง 2 ด้าน ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่องหรือ ทำเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ชายคากันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก เพื่อกันแดดส่องและฝนสาด ชานกว้าง โดยทั่วไปมีปริมาณถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ 60 พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝา กั้นเป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่พื้นที่อยู่อาศัยภายนอกมีปริมาณมาก เพราะดินฟ้าอากาศร้อนอบอ้าว

ประเภทเรือนไทยในภาคกลาง
เรือนเดี่ยว 
เป็น เรือนสำหรับครอบครัวเดี่ยว สร้างขึ้นโดยมีประโยชน์ใช้สอยที่เพียงพอกับครอบครัวเล็ก ๆอาจ เป็นเรือนเครื่องผูกเรือนเครื่องสับ หรือผสมผสานกันก็เป็นได้แล้วแต่ฐานะ ประกอบด้วย เรือนนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ระเบียงยาว ตลอดเป็นตัวเชื่อมระหว่างห้องนอนกับชาน

เรือนหมู่ 
เรือน หมู่ คือ เรือนหลายหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่เดียวกัน สมัยก่อนลูกชายแต่งงานส่วนใหญ่จะไปอยู่บ้านผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงจะนำเขยเข้าบ้าน จะอยู่เรือนหลังย่อมกว่า เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” อาจมี“หอนั่ง”ไว้สำหรับนั่งเล่น บางแห่งมี“หอนก” ไว้สำหรับเลี้ยงนก


เรือนหมู่คหบดี 
เรือน หมู่คหบดีโบราณ เป็นเรือนสำหรับผู้มีอันจะกิน ลักษณะการจัดเรือนหมู่คหบดีของโบราณเป็นเรือนขนาดใหญ่มีเรือนคู่และเรือน หลังเล็กหลังน้อยรวมเข้าด้วยกัน แต่ละหลังใช้ประโยชน์ต่างหน้าที่กันออกไป ประกอบด้วย เรือนนอน เรือนลูก เรือนขวาง เรือนครัว หอนก และชาน

เรือนแพ 
การสร้างบ้านบริเวณชายฝั่งต้องยกพื้นชั้นบนสูงมาก ไม่สะดวกในหน้าแล้งทำให้เกิดการสร้างเรือนในลักษณะ " เรือนแพ " ที่สามารถปรับระดับของตนเองขึ้นลงได้ตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง


เรือนไทยภาคเหนือ

รูปทรงจะมีความโดดเด่นเป็นแบบศิลปะล้านนา การปลูกเรือนพักอาศัยของคหบดีผู้มีอันจะกินทางภาคเหนือนิยมใช้สัญญลักษณ์ ”กาแล” ซึ่งเป็นไม้ป้านลมสลักลายอย่างงดงามไขว้กันติดที่ปลายยอดหลังคา ใต้ถุนของตัวเรือนค่อนข้างต่ำ เพราะอยู่บนดอยหรือทิวเขา น้ำท่วมไม่ถึง หลังคาส่วนใหญ่จะเป็นทรงหน้าจั่วคล้ายเรือนไทยภาคกลางแต่จะถ่างมากกว่า ที่ยอดของปั้นลมมักติดกาแล และด้วยสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นกว่า เรือนภาคเหนือจึงมีหน้าต่างบานเล็กและแคบ มักจะวางโอ่งน้ำพร้อมกระบวย หรือ มีเรือนน้ำให้ผู้สัญจรไปมาได้ดื่มกิน ถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเรือนล้านนา ครัวมักสร้างแยกจากเรือนนอน มีระเบียงหลังบ้านติดกับเรือนครัว การแบ่งอาณาเขตของบ้านจะใช้วิธีล้อมรั้วด้วยไม้ไผ่ขัดกันเป็นตาโปร่ง


ในเขตจังหวัดภาคเหนือส่วนหนึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มภูเขา หุบเขา และที่ดอนบนเทือกเขาสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1500-3000 เมตร นับตั้งแต่เทือกเขาด้านตะวันตกในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนอ้อมมาส่วนเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และด้านตะวันออกที่จังหวัดน่าน ลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้น 2 แบบคือ 
1. ที่ดอนบนดอย หรือทิวเขา เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำการกสิกรรมแบบไร่เลื่อนลอย                2. บนที่ราบลุ่มเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมล้านนา 
การตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่เรือนหลังเดียวในเนื้อที่หุบเขาแคบ จนถึงระดับหมู่บ้านและเมือง ซึ้งการขนานนามหมู่บ้านนั้นขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เช่น หมู่บ้านที่ขึ้นต้นด้วย “ปง” คือบริเวณที่มีน้ำซับ “สัน” คือบริเวณสันเนินหรือมีดอน “หนอง” หมายถึงบึงกว้าง “แม่” คือที่ตั้งที่มีลำธารไหลผ่าน ดังนั้นชื่อเดิมของหมู่บ้านจึงเป็นการบอกลักษณะการตั้งถิ่นฐานแต่แรกเริ่ม

ประเภทของเรือนไทยในภาคเหนือ
เรือนเครื่องผูก หรือเรือนไม้บั่ว 
ซึ่งหมายถึงไม้ไผ่ เรือนประเภทนี้เป็นเรือนขนาดเล็ก ถือว่าเป็นเรือนแบบดั้งเดิม เพราะวิธีการก่อสร้างเป็นวิธีการที่ เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ยังนิยมปลูกสร้างเรือนเครื่องผูกนี้ทั้งในตัวเมืองและชนบท โดยสามารถหาดูได้ทั่วไปตามชนบทและหมู่บ้านต่าง ๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างส่วนหลังคา ตงพื้นใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ ไผ่สาน หลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง นิยมใช้ตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด


เรือนกาแล 
หรือที่ชาวล้านนาในปัจจุบันเรียกว่า “เฮือนบ่าเก่า”(เฮือนคือเรือน บ่าเก่าคือโบราณ) เป็นเรือนล้านนาที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคง และมีส่วน ประกอบประณีตกว่าเรือนแบบแรก นิยมสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีไม้ป้านลมหลังคา ส่วนปลายยอดไขว้กันเรียกว่า "กาแล" ซึ่งมักสลักเสลาสวยงาม

เรือนไม้จริง 
เป็นเรือนพื้นเมืองของล้านนาอีกรูปแบบหนึ่งที่วิวัฒนาการไปจากเรือนกาแล รูปแบบหรือลักษณะทางกายภาพของเรือนประเภทนี้ เกิด จากการผสมผสานทางวัฒนธรรมการปลูกสร้างแบบดั้งเดิมกับวัฒนธรรมที่ชาวล้านนาได้รับจากภายนอก ซึ่งช่างล้านนาได้รับระบบวิธีการปลูกสร้างและ รูปแบบของถิ่นภาคกลางตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มาผสมผสานกันได้ลงตัว เช่นหลังคาจั่วมุงกระเบื้อง 
เรือนไม้บางหลังมีการนำเอาระเบียบวิธีการตกแต่งลายฉลุไม้แบบ ขนมปังขิง (gingerbread) มาตกแต่งประดับจั่วหลังคาและเชิงชายตามแบบอิทธิพลช่าง ไทยภาคกลางที่รับมาจากตะวันตกที่แพร่หลายจากปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖ ชาวล้านนาเรียกเรือนประเภทประดับลายฉลุไม้นี้ว่า “เรือนทรง สะละไน” ซึ่งมักเป็นเรือนของพวกคหบดีคนมีเงิน 
เรือนล้านนาประเภทนี้ รูปทรงภายนอกของเรือนจะผันแปรไปตามสมัยนิยม โดยเฉพาะลักษณะฝา ระเบียบการเจาะช่องประตูหน้าต่าง การขึ้นทรง หลังคาที่มีระนาบซับซ้อน เป็นการแสดงถึง อัจฉริยภาพของช่างพื้นเมืองที่รู้จักประสานประโยชน์จากความรู้กับเทคนิควิทยาการช่างที่ได้รับ มาจากต่าง ถิ่นได้อย่างกลมกลืน

เรือนไทยภาคอีสาน

การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเล ที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่สำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักข้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน หนอง" เป็นส่วนใหญ่ 

ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกัน เป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า 
หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้ว หักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น

ลักษณะชั่วคราว
     สร้างไว้ใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น " เถียงนา" หรือ "เถียงไฮ่" ทำยกพื้นสูงเสาไม้จริง โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมา จากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟากทำฝาโล่งหากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับ ได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
    ลักษณะกึ่งถาวร 
    คือกระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก มีชื่อเรียก " เรือนเหย้า" หรือ " เฮือนย้าว" หรือ "เย่าเรือน " อาจเป็นแบบเรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบเรือนเครื่องสับก็ ได้ เรือนเหย้ากึ่งถาวรยังมี " ตูบต่อเล้า " ซึ่งเป็นเพิงที่สร้างอิงกับตัวเล้าข้าว และ "ดั้งต่อดิน" ซึ่งเป็น เรือนที่ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกมาจากเรือนใหญ่ เรือนเหย้ากึ่งถาวรอีกประเภทหนึ่ง คือ "ดั้งตั้งคาน" หรือ ดั้งตั้งขื่อ" ลักษณะคล้ายเรือนเกยทั่วไป แต่พิถีพิถันน้อยกว่า อยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก แตกต่างจากเรือนดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลาง จะลงมาพักบนคานของด้านสะกัด ไม่ต่อถึงดิน
     ลักษณะถาวร 
     เป็นเรือนเครื่องสับหรือเรือนไม้กระดานอาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง ลักษณะใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ เรือน เครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่างมักทำ หน้าต่างเป็นช่องแคบ ๆ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อน ข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมี ลมพัดจัดและ อากาศจัดจึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้หลังคาเรือนทำเป็นทรง จั่วอย่างเรือนไทย ภาคกลางมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องไม้สักจั่วกรุ ด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของ อาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือน ไทยภาคกลาง

   เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน 
   * ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ พอให้ยี่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น 
   * ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่ากาแล 
   * ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอหม้อ เหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุ

เรือนไทยภาคใต้

เรือนไทยภาคใต้ตอนบน เป็นเรือนของชาวไทยพุทธเป็นส่วนใหญ่ ตัวเรือนมีลักษณะคล้ายเรือนไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะเฉพาะของภาคที่ต้องกันความชื้น เช่นตัวเรือนต้องไม่ใหญ่ ทรงเตี้ยกว่าเรือนไทยภาคกลางเพื่อลดแรงต้านลมในฤดูมรสุม ยกพืนไม่สูงนัก ประมาณก้มหัวเดินลอดได้ พอให้ลมพัดผ่านได้สะดวกเพื่อไล่ความชื้น และเนื่องจากฝนชุก พื้นดินชื้นกว่าภาคอื่นทำให้เสาเรือนผุง่าย จึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ฝังเสาลงดิน แต่รับตีนเสาทำด้วยหิน ปะการัง หรือไม้ ภายหลังทำด้วยปูน ทำเป็นลวดลายต่างๆ 


หลังคา เป็นหลังคาจั่วแต่ไม่ชันมาก ยอดปั้นลมไม่แหลมเหมือนยอดปั้นลมเรือนไทยภาคกลาง หางปั้นลมไม่นิยมทำเป็นตังเหงาแต่ทำเป็นหางปลา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาซึ่งส่วนใหญ่ทำจากโรงงานกระเบื้องบ้านท่านางหอม ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
ฝาเรือน นิยมใช้ไม้ตีเกล็ดตามแนวนอน หรือฝาสายบัวในแนวตั้ง ประตูหน้าต่างใช้แกนหมุนวงกบเข้าเดือย แกะสลักเป็นรูปดาวหรือดอกไม้ บานประตูหน้าต่างเซาะร่อง แกะเป็นลวดลาย บานหน้าต่างทำเป็นลูกฟัก กรอบบนและกรอบล่างฉลุโปร่งเพื่อระบายอากาศ 
พื้นเรือน ปูด้วยไม้กระดานต่างระดับกัน พื้นเรือนนอนจะสูงกว่าระเบียงและชาน บันไดเรือนคล้ายบันไดเรือนภาคอื่นๆ มีตุ่มหรืออ่างใส่น้ำล้างเท้าเช่นกัน 

เรือนไทยภาคใต้นิยมสร้างเรือนนอน มีระเบียงตามยาว มีหลังคาคลุม ต่อด้วยชานโล่ง หากต้องการสร้างเรือนเพิ่มมักสร้างเป็นเรือนคู่ เรือนเคียงเชื่อมกันด้ัวยชาน มีเรือนครัวขวางด้านสกัด 
ชาวใต้นิยมเลี้ยงนกไว้ดูเล่น เช่น นกเขาชวาที่ขันเสียงหวาน นกกรงหัวจุก เป็นต้น ทุกเรือนจึงมีกรงนกแขวนอยู่เป็นส่วนประกอบ

ลักษณะบ้านพักอาศัยในภาคใต้ 
จากการพิจารณาสภาพอาชีพ และสภาพแวดล้อมทางสังคมแล้ว จะเห็นได้ว่า ความต้องการในการใช้พื้นที่ใช้สอยของประชาชนในภาคใต้ และความเป็นอยู่โดยทั่วไปก็คล้ายคลึงกับภาคอื่นๆ คือ มีการสร้างที่พักอาศัยแยกเป็นหลังๆ เมื่อมีการขยายตัวของครอบครัวและแยกครัวออกมาจากเรือนนอน โดยใช้นอกชานเป็นตัวเชื่อม แต่ลักษณะนอกชานของภาคใต้มักจะแคบเพราะมีฝนตกชุกทำให้การเดินติดต่อระหว่างเรือนแต่ละหลังสะดวกขึ้น บางที่ส่วนนอกชานจะก่ออิฐและถมดินขึ้นให้ได้ระดับกับระเบียงและใช้ปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก ส่วนลักษณะของหลังคาเรือนแบ่งได้เป็น ๔ ลักษณะ คือ
๑. หลังคาจั่ว 
๒. หลังคาปั้นหยา 
๓. หลังคาบรานอร์ 
๔. หลังคามนิลา
หลังคา ๔ แบบนี้จะมีอยู่ทั่วไป เพียงแต่สัดส่วนของหลังคาจะมีทรงกรวด หรือทรงเตี้ยก็ขึ้นอยู่กับช่างก่อสร้างในถิ่นนั้นๆ และขึ้นอยู่กับวัสดุที่มุงหลังคา ความลาดชันของหลังคาก็ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นครัวมักจะทำการออกแบบเป็นหลังคาตุกแตน

ลักษณะของเรือนโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 
๑. เรือนเครื่องผูก 
๒. เรือนเครื่องสับ 
๓. เรือนก่ออิฐฉาบปูน 
รูปแบบหลังคาเรือนทางภาคใต้ทั้ง ๔ แบบ จะเห็นได้ว่าทำการก่อสร้างเพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ คือ สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลังคาปั้นหยาจะมีความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคามากเป็นพิเศษ เรือนส่วนใหญ่จะวางเสาไว้บนตีนเสา ( ตอม่อ ) ซึ่งมักจะก่ออิฐและฉาบปูน ฉะนั้น เมื่อต้องการจะย้ายบ้าน ก็จะปลดกระเบื้องลง ตีแกงแนงยึดโครงสร้างเสาเป็นรูปกากบาด แล้วใช้คนหามย้ายไปตั้งที่ต้องการ แล้วนำกระเบื้องขึ้นมุงใหม่ก็สามารถเข้าไปอยู่ได้ทันที


สรุป
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเมื่อได้ศึกษาแล้วจะพบว่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทำให้ต้องค้นเรื่องราวเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย 
การศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทำให้ได้ความรู้เกี่ยวเนื่องต่างๆ อีกมากมายในแง่วิชาการ และในอีกด้านหนึ่งทำให้สามารถเข้าใจถึงการสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจในลักษณะของท้องถิ่นกันอย่างแน่นแฟ้น



สืบค้นโดย
นายชาญศิลป์ พิมพ์กำเนิด รหัส 54020014
วิชา professional practice
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

2 ความคิดเห็น:

  1. ได้รู้เพิ่มขึ้น เนื้อหาอ่านง่าย มีภาคการปลูกสร้างก็ดีนะครับ กำลังอยากจะปลูกบ้านพื้นถิ่นภาคใต้อยู่ครับ

    ตอบลบ
  2. ถ้าไม่ได้ทำ power point ชาตินี้คงไม่ได้เข้ามาอ่าน 5555

    ตอบลบ