วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

สถาปนิก idol รุ่นพี่ลาดกระบัง


ผมได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์พี่แก้ม สถ.ลาดกระบังครับ ซึ่งรู้จักผ่านทางพี่ตั๋นซึ่งเป็นพี่ชายของผมที่เรียนสถาปัตย์ลาดกระบังเหมือนกัน พี่ตั๋นได้เป็นคนแนะนำให้ เพราะพี่แก้มเป็นรุ่นพี่ที่ทำงานที่เดียวกันกับพี่ตั๋น ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ผมได้นัดไปสัมภาษณ์กับพี่แก้มที่ออฟฟิส Palmer & Turner ครับ

ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวเล็กน้อยครับ

พี่เรียนจบปริญญาตรีที่สถาปัตย์ที่ลาดกระบังตค่ะ เข้าปี 2541 รหัส 56พอจบมาก็เข้ามาทำงานที่Palmer & Turner (Thailand) Co.,Ltd. เลย เพราะตอนฝึกงานปี 4 ก็ได้เข้ามาฝึกงานที่ Palmer & Turner (Thailand) Co.,Ltd. แล้วก็ได้ทุนไปทำทีสิส ก็เลยกลับมาทำงานที่บริษัทนี้ แล้วก็ล่าสุดได้ไปเรียนปริญญาโทต่อที่จุฬาฯ ด้านเกี่ยวกับพลังงาน และอาคารเขียว ปัจจุบันพี่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ทำเป็น part time ที่นี่่ ไม่ได้เข้าออฟฟิสทุกวันค่ะ

แล้วลักษณะการปฏิบัติวิชาชีพของพี่เป็นอย่างไรครับ?

ลักษณะที่พี่ทำจะเป็นการทำแบบ pre-rim ตั้งแต่แรกเริ่มไปจนจบ ซึ่งก็อาจจะใช้ระยะเวลานานหน่อย คือเป็นงานดีไซน์ ทำคอนเซ็ปท์ จากนั้นพอแบบเริ่มนิ่งก็จะเปลี่ยนทีมไปเป็นด้านทำแบบขออนุญาติ EIA หรือ BMA เป็นต้น ซึ่งช่วยที่พี่ทำก็คือจะเป็นช่วงที่ต้องทำรวดเร็ว ส่งทุกอาทิตย์ มีอัพเดตตลอดเวลา

คือเราจะเลือกอย่างไรครับ ว่าเราจะทำด้านไหน อย่างไร?

คือที่ออฟฟิสนี้ตอนแรกจะเป็นการเลือกจับลงให้ก่อนว่าจะไปอยู่ทีมไหน ให้ลองก่อนว่าทำได้ไหม บางทีทำไปอาจจะไม่ชอบก็ได้ บางทีทำ pre-rim ไปก็อาจจะกดดัน ก็อาจจะไปลองด้านอื่น ดูว่าเราถนัดแบบไหนมากสุด

งาน หรือผลงานที่พี่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพคืออะไร...อุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพคืออะไร?

ก็จบมาเป็นสถาปนิกพี่ก็จะมีงานที่พี่ชอบ อย่างของพี่ที่ภูมิใจก็จะเป็นโรงแรม Marakesh อยู่ที่หัวหิน โครงการนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานก็คือได้เริ่มคิดกับ interior ตั้งแต่ต้น ว่าคอนเซปท์เป็นอย่างไร ให้ข้างใน และข้างนอกให้สอดคล้องกัน ซึ่งก็ได้ข้อสรุปออกมาให้เป็นการเกิดใหม่ของสไตล์ marakesh ซึ่งเราก็จะตัดทอนลง ให้มันสมัยใหม่ขึ้น มี Arch มีโค้ง แต่ก็ไม่ได้ยิบๆเหมือนสมัยนั้นเค้าจริงๆ ซึ่งพอทำออกมาปรากฏว่าลูกค้าก็ชอบ เจ้าของงานก็ชอบ ข้อดีก็คือโครงการนี้เป็นโรงแรมเล็กๆ ไม่สูงมาก ซึ่งแตกต่างจากงานปกติที่ออฟฟิสทำ และยังเป็นโครงการแรกของ owner ด้วยที่เป็นโรงแรม ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้พี่ด้วยที่เราจะได้ศึกษา ได้ทดลองทำดีเทลต่างๆ สไตล์ใหม่ ที่ปกติจะไม่ได้ทำ อย่างพวกลายฉลุ archโค้ง เป็นต้น ซึ่งก็ออกมาโอเค ส่วนอุปสรรคก็มีนิดนึงตรงที่มันก็เป็นโครงการแรกของ owner ด้วยซึ่งเรื่องจะลองเปลี่ยนอะไรก็เยอะ ซึ่งก็จะย้อนกลับมาถึงเรื่องเวลา ที่ทำให้เราต้องเร่งให้งานจบด้วย

การทำงานกับ interior เป็นอย่างไร?

การทำงานกับ interior จริงมันก็จะเป็นคนละส่วนกันอยุ่แล้ว เราเป็นสถาปนิก เราต้องเป็นผู้นำเค้าด้วย คือเจ้าของโครงการก็จะคาดหวังว่าเราจะต้องรู้สโคปทั้งหมด เราก็ต้องช่วยเค้าด้วย แล้วการทำงานนั้น การทำงานนั้น ยิ่งผู้ออกแบบทุกคนยิ่งเข้ามาทำการร่วมกันเร็วยิ่งดี เพราะงานมันจะได้ดำเนินไปได้เร็ว และออกแบบไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องมาปรับเปลี่ยนอะไรภายหลัง

ข้อคิดที่สำคัญในการ ทำงานคืออะไร? การปฏิบัติตนต่อการทำงานทำอย่างไร?

พี่ไม่พูดถึงแค่สถาปนิกละกัน พูดถึงทั้งหมดเลย ก็คือเราต้องทำงานให้ดีที่สุด จริงๆคือให้ออกมาเกินความคาดหมายเลยก็จะดีกว่า อย่าคิดว่าเค้าสั่งมาแค่นี้ ก็ทำแค่นี้ให้เสร็จ คือถ้าเราสามารถทำให้ออกมาดีกว่านั้นมันก็จะเป็นอะไรที่ดี ยิ่งในออฟฟิสเยอะๆ ก็มีโอกาสที่เราจะโดดเด่น ให้เจ้านายเค้ามองเห็นศักยภาพของเรา และที่สำคัญมากคือความรับผิดชอบให้มาก เพราะพอมาทำงานแล้วเจ้านายไม่ใช่อาจารย์ เรามาทำงานเป็น professional แล้ว จะมาผิดพลาดแบบเด็กๆไม่ได้ แรกๆในการทำงาน การผิดพลาดก็อาจจะมีได้บ้าง ถือเป็นการเรียนรู้ แต่ผ่านไปสองสามปีแล้ว ถ้าจะมาผิดเรื่องแบบเดิมอยู่ มันก็ไม่ได้แล้ว ซึ่งพี่ก็คิดว่าพอจบมาแรกๆ ยังไม่ได้ลองทำอะไรก็ให้รีบลอง รีบทุ่มเทกับมันให้เต็มที่ เพราะพี่ๆเค้าก็คอยเต็มใจสอนด้วย จะได้เรียนรู้งานให้มากๆ มันเป็นโอกาสที่ที่เรายิ่งทำมากก็จะได้เรียนรู้มาก

ข้อคิดเห็นที่สำคัญกับ การประกอบวิชาชีพสถาปนิก คิดเห็นอย่างไรกับ Trend การออกแบบสมัยนี้ และในอนาคต

พี่มองว่าเทรนด์สมัยนี้คือเรื่องการประหยัดพลังงาน เทรนด์เรื่องอาคารเขียวกำลังจะมา แต่ในประเทศไทยมันก็ยังไม่ได้พุ่งแรง มันต้องอาศัยทางด้านผลตอบแทนที่คุ้มค่าด้วย คนลงทุนเค้าถึงจะอยากทำ รวมถึงการออกแบบอาจจะล้ำขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น การเขียนแบบก็ง่ายขึ้น มีรูปแบบใหม่ขึ้นมาก ที่แต่ก่อนไม่สามารถเขียนได้เพราะขาดเทคโนโลยี

พี่ๆ คิดว่า สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่ลาดกระบังผลิตออกมา มีคุณภาพอย่างไร ต้องการให้ภาควิชา ปรับปรุงลักษณะบัณฑิตออกมาให้เป็นอย่างไร?

เด็กลาดกระบังก็ดีนะ คืออยู่ทนนะ อยู่นาน ว่าง่าย มีจุดแข็งด้านคอนสตรัคชั่น รับความกดดันได้ เพราะการทำงานมันจะเร่ง กดดัน ต้องทำทุกอาทิตย์ พี่ก็ยังไม่เคยเจอน้องที่ไม่ดี ส่วนมากโอเคหมด ส่วนเรื่องรุ่นใหม่ๆที่จะออกมา พี่คิดว่าเรื่องของโปรแกรมนั้นสำคัญ ความต้องการมันกำลังมา ถ้าจบออกมาแล้วใช้เป็นอย่างครบครันก็จะดีมาก ยิ่ง BIM นี่ถ้าได้ก็จะถือเป็นคุณสมบัติพิเศษ 

ให้พี่ๆ ช่วยเล่าบรรยากาศ สมัยที่เรียน ณ ลาดกระบัง ว่า เรียนกันอย่างไร ใช้ชีวิตและกิจกรรม ในคณะอย่างไร?

สมัยพี่นั้นเวลาอยากจะเที่ยวสยามก็จะต้องนั่งรถไฟออกมาจากลาดกระบัง แล้วก็จะต้องรีบกลับเร็วมากเลย เพราะรถรอบสุดท้ายเป็นรอบหกโมงเย็น แล้วก็ตอนหลังก็ค่อยมีรถ ปอพ. มา สถานที่เที่ยวยอดฮิตตอนนั้นคือ ซีคอนสแควร์ เพราะมีรถตู้ไปรอบละ 20 บาท แล้วก็รุ่นพี่ตอนเข้าไปแรกๆ เพิ่งมีเซเว่นมาเปิด ซึ่งรุ่นพี่ก่อนหน้านั้นเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนก็มีร้าน am pm ตรงนั้น แต่จะปิดตอนกลางคืน เพราะถ้าเปิดแล้วจะโดนปล้น (หัวเราะ) สมัยพี่พี่ก็จะอยู่ที่หอในค่ะ แล้วค่อยย้ายออกมาข้างนอก แล้วก็ประทับใจในเรื่องของเชียร์คณะเรา พี่คิดว่าจริงๆแล้วเชียร์ของคณะเรามันไม่โหด ทุกคนรับได้ สมัยพี่ต้องวิ่งทุกวันก่อนเข้าเชียร์ที่ใต้ตึกสี่ชั้น ซึ่งยุงก็จะเยอะมาก นั่งไปก็จะต้องตบยุงไปด้วย  สมัยนั้นพวกเพื่อนก็จะชอบไปเก็บหอยเชอร์รี่มากิน แล้วก็ท้องเสียกันหมด (หัวเราะ) 

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่แก้มมากเลยครับ จบจากการพูดคุยก็ได้อะไรอีกเยอะแยะทั้งความรู้ ทัศนคติ ประสบการณ์ต่างๆนานา รวมทั้งแนวคิดดีๆในการประกอบวิชาชีพสถาปนิก ขอบคุณมากครับ :)